ข่าวสาร/กิจกรรมต่างๆ

โลกร้อนทำพิษ แม่น้ำ ‘อะแลสกา’ เปลี่ยนเป็นสีส้ม มีกรดสูง อันตรายต่อคน – สัตว์

By กฤตพล สุธีภัทรกุล    27 พ.ค. 2024 เวลา 16:28 น.

 

KEYPOINTS

  • ลำธาร และแม่น้ำอย่างน้อย 75 สาย ในอะแลสกากลายเป็นสีส้มสนิม อาจเกิดจากการละลายของชั้นดินเยือกแข็ง ทำให้แร่ธาตุในดิน เช่น สังกะสี ทองแดง แคดเมียม และเหล็ก ละลายออกมา และไหลลงสู่ธารน้ำ
  • น้ำที่เปลี่ยนสีมีความเป็นกรดสูงมาก จนบางแห่งมีระดับ pH อยู่ที่ 2.6 ซึ่งเป็นระดับเดียวกับน้ำมะนาวและน้ำส้ม กระทบอย่างมากต่อแหล่งน้ำดื่ม และการประมงยังชีพในชนบทของอะแลสกา
  • ปัจจุบันอะแลสกาได้สูญเสียปลาท้องถิ่น 2 สายพันธุ์ ได้แก่ ปลาดอลลี่ วาร์เดน และปลาสไลมีสกัลปิน ไปอย่างถาวร ขณะที่ปลาแซลมอนชัม และปลาไวต์ฟิช ก็มีความเสี่ยงที่จำนวนประชากรจะลดลงเช่นกัน

 

อาร์กติกขึ้นชื่อว่าเป็นภูมิภาคที่ร้อนเร็วที่สุดในโลก ตอนนี้น้ำแข็งในหลายพื้นที่เริ่มละลายอย่างรวดเร็ว และบางจุดเริ่มละลายไปถึงชั้นดินเยือกแข็งคงตัว เมื่อน้ำแข็งหน้าดินละลายออกหมด แร่ธาตุที่อยู่ใต้ดินก็ไหลซึมเข้าสู่เส้นทางน้ำ

การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Communications Earth & Environment พบว่าลำธาร และแม่น้ำอย่างน้อย 75 สาย ในอะแลสกากลายเป็นสีส้มสนิม อาจเกิดจากการละลายของชั้นดินเยือกแข็ง ทำให้แร่ธาตุในดินละลายออกมา และไหลลงสู่ธารน้ำ

“นี่เป็นผลกระทบที่คาดไม่ถึงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำบริสุทธิ์ที่สุดในประเทศของเรา” เบรตต์ พูลิน ผู้เขียนการศึกษา และผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านพิษวิทยาสิ่งแวดล้อมที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เดวิส กล่าว

การละลายของชั้นดินเยือกแข็งคงตัวจะทำให้แร่ธาตุที่อยู่ภายในดิน เช่น สังกะสี ทองแดง แคดเมียม และเหล็ก สัมผัสกับออกซิเจน จนเกิดกระบวนการ “การผุพัง” (Weathering) และไหลลงสู่แม่น้ำ ส่งผลให้น้ำเปลี่ยนเป็นสีสนิมที่มองเห็นได้แม้กระทั่งจากภาพถ่ายดาวเทียม

น้ำที่เปลี่ยนสีมีความเป็นกรดสูงมาก จนบางแห่งมีระดับ pH อยู่ที่ 2.6 ซึ่งเป็นระดับเดียวกับน้ำมะนาว และน้ำส้ม ขณะที่น้ำบริสุทธิ์มีค่า pH 7 โดยทั่วไปแม่น้ำและทะเลสาบมีค่า pH 6.5 ถึง 8 และฝนกรดมีค่า pH 4.2 ถึง 4.4 ดังนั้นการค้นพบนี้มีผลกระทบอย่างมากต่อแหล่งน้ำดื่ม และการประมงยังชีพในชนบทของอะแลสกา

โลกร้อนทำพิษ แม่น้ำ ‘อะแลสกา’ เปลี่ยนเป็นสีส้ม มีกรดสูง อันตรายต่อคน - สัตว์

การศึกษาชี้ให้เห็นถึงความเสื่อมโทรมของแหล่งน้ำ และความเสี่ยงต่อการประมงในแถบอาร์กติก โดยพูลิน กล่าวว่า ปัญหานี้ค่อยๆ แพร่กระจายจากต้นน้ำสายเล็กๆ ไปสู่แม่น้ำสายใหญ่เมื่อเวลาผ่านไป หากน้ำที่ปนเปื้อนโลหะไปผสมกับแม่น้ำสายอื่น จะทำให้แร่ธาตุต่างๆ สร้างผลกระทบต่อคุณภาพของน้ำมากยิ่งขึ้น

ปรากฏการณ์แม่น้ำเปลี่ยนสีถูกพบครั้งแรกในปี 2018 เมื่อนักวิจัยสังเกตเห็นแม่น้ำทั่วทั้งเทือกเขาบรูคส์ทางตอนเหนือของอะแลสกา เปลี่ยนสีเป็นสีส้ม ทั้งที่ในปีก่อนหน้ายังมีใสสะอาดราวกับคริสตัสอยู่ ภายในปีเดียวกัน แม่น้ำสาขาของแม่น้ำอาคิลลิก ภายในอุทยานแห่งชาติโกบุก วัลเลย์ ได้สูญเสียปลาท้องถิ่น 2 สายพันธุ์ ได้แก่ ปลาดอลลี่วาร์เดน และปลาสไลมีสกัลปิน ไปอย่างถาวร ขณะที่ปลาแซลมอนชัม และปลาไวต์ฟิชก็มีความเสี่ยงที่จำนวนประชากรจะลดลงเช่นกัน

“ข้อมูลของเราชี้ให้เห็นว่าเมื่อแม่น้ำเปลี่ยนเป็นสีส้ม เราเห็นการลดลงอย่างมีนัยสำคัญของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังขนาดใหญ่ และไบโอฟิล์ม กลุ่มของแบคทีเรียที่เกาะอยู่ด้านล่างของลำธาร ซึ่งเป็นฐานของใยอาหาร (food web) ซึ่งทำให้ปลาย้ายที่อยู่อาศัยที่อื่นแทน” พูลินกล่าวถึงปรากฏการณ์สนิม

การเกิดสนิมเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นฤดูกาล มักเกิดขึ้นในฤดูร้อนระหว่างเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม เป็นช่วงที่ดินละลายมากที่สุด แต่ด้วยภาวะโลกร้อนทำให้อะแลสกากำลังร้อนขึ้นในอัตรา 2-3 เท่าของค่าเฉลี่ยทั่วโลก ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงให้เห็นว่า แม่น้ำหลายแห่งของอะแลสกามีสีส้มเข้มขึ้นอย่างมากในช่วงฤดูร้อนตลอด 10 ปีที่ผ่านมา

โลกร้อนทำพิษ แม่น้ำ ‘อะแลสกา’ เปลี่ยนเป็นสีส้ม มีกรดสูง อันตรายต่อคน - สัตว์

ทีมนักวิจัยจากกรมอุทยานแห่งชาติ สำนักสำรวจทางธรณีวิทยาของสหรัฐ และมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเดวิส ร่วมกันทำความเข้าใจเกี่ยวกับปรากฏการณ์ดังกล่าว ถึงผลกระทบระยะยาวของการเปลี่ยนแปลงเคมีของน้ำ จากในชั้นดินเยือกแข็งคงของภูมิภาคอาร์กติก เช่น อะแลสกา แคนาดา รัสเซีย และบางส่วนของสแกนดิเนเวีย

 

“มันเป็นพื้นที่ ที่ร้อนขึ้นเร็วกว่าส่วนอื่นๆ ของโลกอย่างน้อย 2-3 เท่า ดังนั้นผลกระทบจากปรากฏการณ์น้ำสีสนิมจะยังคงเกิดขึ้นต่อไป ” สก็อตต์ โซลคอส นักวิทยาศาสตร์อาร์กติกจากศูนย์วิจัยสภาพภูมิอากาศวูดเวลล์ กล่าว 

 

นอกจากนี้ กลุ่มวิจัยเล่าว่าพวกเขากำลังทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้ประสานงานชนเผ่าในอะแลสกา เพื่อให้แน่ใจว่าชุมชนท้องถิ่นได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับปรากฏการณ์น้ำเปลี่ยนสี เพราะแหล่งน้ำที่เปลี่ยนเป็นสีส้มทั้ง 75 สาย กระจัดกระจายไปทั่วตอนเหนือของอะแลสกา เป็นระยะทางประมาณ 600 ไมล์ แม้สายน้ำเหล่านี้จะอยู่ห่างจากพื้นที่ทำกิจกรรมของมนุษย์ แต่อาจจะส่งผลกระทบต่อพื้นดิน เช่น ถนนหรือเหมืองแร่

นักวิจัยจำเป็นต้องมีการทำงานเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจปัญหานี้ในวงกว้างขึ้น และทำการศึกษาว่าแม่น้ำ และลำธารเหล่านี้สามารถฟื้นตัวจากการปนเปื้อนนี้ได้หรือไม่

ฝ่ายบริหารของรัฐบาลโจ ไบเดน คาดการณ์ไว้เมื่อเดือนพฤศจิกายน ที่ผ่านมา ว่ารัฐจะต้องใช้เงินประมาณ 4,800 ล้านดอลลาร์ ในการซ่อมแซม และปรับโครงสร้างพื้นฐานในช่วง 50 ปีข้างหน้า เพื่อต่อสู้กับอุณหภูมิที่สูงขึ้น และความเสียหายจากน้ำท่วม การกัดเซาะ และการละลายของชั้นดินเยือกแข็ง

ตามรายงานหลายหน่วยงานของรัฐบาล อุตสาหกรรมประมงและการท่องเที่ยวของอะแลสกา ที่เป็นแหล่งสร้างงานมากกว่า 90,000 ตำแหน่ง มีมูลค่ากว่า 2,570 ล้านดอลลาร์ กำลังตกอยู่ในความเสี่ยงเช่นกัน โดยคาดว่าปริมาณปลาจะลดลง และการท่องเที่ยวในช่วงฤดูหนาวมีแนวโน้มลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ

 

ที่มา: Business InsiderNewsweekThe Guardian

พิสูจน์อักษร….สุรีย์   ศิลาวงษ์

 

อ้างอิง : https://www.bangkokbiznews.com/environment/1128679 : กรุงเทพธุรกิจ

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น